วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สรุปผลการวิจัย

นางสาวณัฏฐนันท์ ปั้นลายนาค


สรุปผลการวิจัย
                การศึกษาวิจัย การพัฒนาระบบการบริหารโรงเรียนประถมศึกษาเพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยแบบองค์รวม สรุปผลการวิจัยออกเป็น 3 ตอน มีลักษณะดังนี้
                ตอนที่ 1 สภาพและปัญหา โรงเรียนเพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยแบบองค์รวม
                                 สภาพ พบว่า โรงเรียนในกลุ่มตัวอย่างทั้ง 8 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่เปิดทำการสอนในระดับประถมศึกษา ในจำนวนดังกล่าวเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 2 โรงเรียน ขนาดกลาง 4 โรงเรียน และขนาดใหญ่ 2 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนทั้งหมดเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน ใกล้สถานีอนามัย โรงพยาบาล วัด และหน่วยงานราชการใช้แนวทางเกณฑ์มาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเป็นหลักในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนั้นและให้ความสำคัญกับงานส่งเสริมสุขภาพอนามัยอย่างมากโดยจัดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ
                                  ปัญหาการบริหารโรงเรียนเพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัย พบว่า 1) ขาดครูที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง 1.1) ครูผู้รับผิดชอบงานอนามัยไม่ได้สำเร็จการศึกษาตรงวุฒิ 1.2) ครูผู้สอนวิชาสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาส่วนใหญ่ไม่ตรงวุฒิ   2) ครูมีภาระงานที่นอกเหนือจากภาระงานสอนมากโดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก 3) การมีส่วนร่วมในการวางแผนและการตัดสินใจของผู้ปกครองและชุมชนมีค่อนข้างน้อย 4) ขาดการประสานงานระหว่างโรงเรียนกับหน่วยงานราชการและหน่วยงานอื่น   5) ขาดขวัญกำลังใจ ผู้บริหารต้นสังกัดของโรงเรียนไม่ให้ความสำคัญในงานส่งเสริมสุขภาพอนามัยเท่าที่ควร 6) ขาดงบประมาณ เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณไม่ได้แยกจัดสรรเพื่องานส่งเสริมสุขภาพอนามัยโดยเฉพาะ  แต่โครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพอนามัยนี้จะแฝงอยู่ในแผนงานของงานต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่พบในงานบริหารทั่วไป
                ตอนที่ 2 แนวทางการบริหารเพื่อการส่งเสริมสุขภาพองค์รวมพบว่าโรงเรียนที่ศึกษามีแนวทางการบริหารเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ โดยดำเนินงานตามองค์ประกอบของโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ทั้ง 10 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. นโยบายของโรงเรียน 2.การบริหารจัดการในโรงเรียน 3. โครงการร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน 4. การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ 5. บริการอนามัยในโรงเรียน 6. สุขศึกษาในโรงเรียน 7. โภชนาการและอาหารที่ปลอดภัย   8. การออกกำลังกาย กีฬา และนันทนาการ 9. การให้คำปรึกษาและสนับสนุนทางสังคม   10. การส่งเสริมสุขภาพบุคลากรของโรงเรียนตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมอนามัย แต่ไม่มีการทำเป็นระบบอย่างชัดเจน แม้ว่าบางโรงเรียนมีแผนงานแผนกิจกรรมชัดเจน อย่างไรก็ตามโรงเรียนส่วนใหญ่เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของโรงเรียน บุคลากร นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน มีการจัดโครงการหรือกิจกรรมในการส่งเสริมสุขภาพสอดคล้องตามเกณฑ์ของกรมอนามัย เช่น โครงการจัดอาหารกลางวันตามภาวะโภชนาการของนักเรียน โครงการไร้พุง โครงการกำจัดเหา โครงการตรวจสอบคุณภาพอาหาร เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเป็นแนวทางการส่งเสริมสุขภาพอนามัยโรงเรียนที่เด่นชัดและน่าสนใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น